วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ดอกไม้ประจำวันเกิด

ดอกไม้ประจำวันเกิด



ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า ในแต่ละวันจะมีต้นไม้และดอกไม้ประจำวัน ซึ่งเชื่อกันว่า หากใครที่ปลูกต้นไม้หรือดอกไม้ประจำวันเกิด แล้วต้นไม้หรือดอกไม้เจริญเติบโตด้วยดี ชีวิตจะก้าวหน้า ร่างกายจะแข็งแรง หรือถ้าออกดอกเบ่งบาน เชื่อกันว่าจะมีความสุขความสมหวังเสมอ ตรงกันข้าม หากดอกไม้หรือต้นไม้เกิดเหี่ยวเฉาลงก็จะเป็นลางเตือนเจ้าของต้นไม้ ดอกไม้ได้เหมือนกัน
สำหรับคนที่เกิดวัน…อาทิตย์          ต้นไม้ประจำวันเกิด เป็นต้นพวงแสด ต้นพุทธรักษา ต้นธรรมรักษา และต้นเยอร์บีร่าที่มีดอกสีส้ม
          ดอกไม้ประจำวันเกิด เป็นดอกกุหลาบสีส้ม จะถูกโฉลกกับวันอาทิตย์ที่มีนิสัยทะเยอทะยานและกระตือรือล้น และยังรวมไปถึงดอกทานตะวัน อันเป็นสัญลักษณ์คู่กับพระอาทิตย์
          ความหมายของดอกไม้และคนที่เกิดวันอาทิตย์ คือ การมีความฝันอันยิ่งใหญ่ เชื่อมั่น หัวสูง ถือตัว และหยิ่งในศักดิ์ศรีด้วย
สำหรับคนที่เกิดวัน…จันทร์           ต้นไม้ประจำวันเกิด คือ ต้นมะลิ ต้นแก้ว ต้นพุด ต้นจำปี ยิ่งถ้าปลูกแล้วออกดอกหอมเธอจะยิ่ง โชคดี
          ดอกไม้ประจำวันเกิด คือ ดอกมะลิขาวสะอาด ดอกกุหลาบขาว
          ความหมายของดอกไม้และคนที่เกิดวันจันทร์ เป็นคนที่มีความนุ่มนวลอ่อนโยน เรียบร้อย มี ความรักที่อ่อนโยนและไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน เพราะคนวันจันทร์มักอ่อนไหวง่าย โรแมนติก และช่างฝัน
สำหรับคนที่เกิดวัน…อังคาร           ต้นไม้ประจำวันเกิด คือ ต้นชัยพฤกษ์ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ต้นยี่โถออกดอกสีชมพู ต้นเข็มออกดอกสีชมพู ถ้าต้นไม้ของคนที่ปลูกไว้เกิดออกดอกมาก ๆ บอกได้ว่าเจ้าของกำลังมีความสุข
          ดอกไม้ประจำวันเกิด คือ ดอกกล้วยไม้ โดยเฉพาะที่ออกดอกสีชมพู
          ความหมายของดอกไม้และคนที่เกิดวันอังคาร หมายถึง คนที่มีความรักที่ร้อนลุ่ม หวือหวา วูบวาบ
สำหรับคนที่เกิดวัน…พุธ
          ต้นไม้ประจำวันเกิด ต้นไม้ประจำวันเกิดของคนที่เกิดวันพุธนั้นมีความพิเศษกว่าคนอื่นตรงที่เป็นต้นไม้ใบเขียว โดยเฉพาะต้นกระดังงา ต้นสนฉัตร ดังนั้นคนที่เกิดวันนี้ควรปลูกต้นไม้เยอะ ๆ จึงจะโชคดี ต้นไม้เหล่านั้นจะช่วยปกป้องคุ้มครองเธอได้
          ดอกไม้ประจำวันเกิด คือ ดอกบัว
          ความหมายของดอกไม้และคนที่เกิดวันพุธ หมายถึง จิตใจอันสงบ เพราะคนที่เกิดวันพุธจะเป็นนักการทูตและรักสันติภาพ ซึ่งคนที่เกิดวันนี้มักจะเป็นนักคำนวณ(เงิน) สำหรับสีเหลืองอร่ามราวกับทองของดอกไม้ชนิดนี้ (บัว) หมายถึง รักของคนที่เกิดวันพุธต้องมาพร้อมเงิน
สำหรับคนที่เกิดวัน…พฤหัสบดี
          ต้นไม้ประจำวันเกิด คือ ต้นโสน ต้นราชพฤกษ์ และต้นบานบุรี หากมีต้นไม้เหล่านี้อยู่ในบ้านจะช่วยคุ้มครองดูแล
          ดอกไม้ประจำวันเกิด คือ ดอกกุหลาบสีเหลือง หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความรัก รักซ้อนซ่อนใจ เพราะคนที่เกิดวันนี้เป็นคนรักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าชู้เล็ก ๆ ดอกคาร์เนชั่นสีชมพู หมายถึงรักที่อ่อนโยนและอ่อนหวาน
          ความหมายของดอกไม้และคนที่เกิดวันพฤหัสบดี คือ การมีความฝันอันยิ่งใหญ่ เชื่อมั่น หัวสูง ถือตัว และหยิ่งในศักดิ์ศรีด้วย
สำหรับคนที่เกิดวัน…ศุกร์
          ต้นไม้ประจำวันเกิด คือ พยับหมอก ต้นแส ต้นอัญชัน
          ดอกไม้ประจำวันเกิด คือ ดอกกุหลาบทุกสี
          ความหมายของดอกไม้และคนที่เกิดวันศุกร์ เพราะคนที่เกิดวันนี้เป็นนักรักผู้ยิ่งใหญ่ มีเสน่ห์เหลือล้น หรือจะเป็นดอกไม้เจ้าเสน่ห์ที่มีความหมายหวานแหววแบบดอกไวโอเลต คนที่เกิดวันศุกร์บางอารมณ์ ก็เป็นคนโลเล จึงได้ดอกลาเวนเดอร์ที่มีความหมายถึงรักที่สับสน ไม่แน่นอน ไปครองอีกดอกหนึ่ง
สำหรับคนที่เกิดวัน…เสาร์
          ต้นไม้ประจำวันเกิด คือ ต้นกัลปังหา ต้นพวงคราม ต้นอินทนิล
          ดอกไม้ประจำวันเกิด เป็นดอกลิลลี่ หมายถึงรักครั้งแรก รักที่บริสุทธิ์
          ความหมายของดอกไม้และคนที่เกิดวันเสาร์ คือ เป็นคนจริงจัง รักคนยาก และเป็นคนขี้เหงาอีกต่างหาก

          คงจะได้ทราบกันแล้วนะครับ ใครเกิดวันไหนก็ดูกันเอาเองก็แล้วกัน แต่อย่าไปยึดติดกับความหมายมากนะครับ เพราะการที่เราได้ปลูกต้นไม้ เอาไว้ในบ้านหรือที่ไหนก็แล้วแต่ มันทำให้เรารู้สึกสดชื่น จิตใจอ่อนโยน คนที่เครียดมาจากการทำงาน แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านมาดูแลต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ก็ช่วยทำให้ผ่อนคลายได้มากยิ่งขึ้น อยู่กับต้นไม้ ดอกไม้แล้วมีความสุข แม้แต่ในงานพิธีการต่าง ๆ ก็จะมีต้นไม้ ดอกไม้ ประดับในงาน เพื่อให้ดูร่มรื่น สดชื่น สบายตา คงจะเห็นถึงความสดใสและสวยงามของต้นไม้แล้วใช่ไหมครับ ผมคิดว่ามาปลูกต้นไม้กันเถอะครับ

BJ จำปา

จำปา : พระยาแห่งดอกไม้ของคนไทยสมัยก่อน

 " อะไรในโถ  ส้มโอปอก  อะไรในจอก  ข้าวตอกนั้น
  อะไรในขัน  มะดันแช่  อะไรในแคร่  ไหเหล้าไหยา
  อะไรในผ้า  จำปาซ่อนกลิ่น  ...ฯลฯ"

 
ข้อความที่ยกมาขึ้นต้นบทความตอนนี้ คัดมาจาก บทเด็กเล่นชื่อ "อะไรในโถ" จากหนังสือบทกลอนกล่อมเด็กฉบับสอบ ของหอพระสมุดวชิรญาณ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ นับถึงปัจจุบันก็ได้ ๘๐ ปีแล้ว จากเนื้อหาคำทายและคำตอบแสดงให้เห็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนสมัยนั้น เช่น เครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงอาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ ดอกไม้ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ คือ ดอกไม้ที่ผู้คนสมัย ๘๐ ปีก่อนโน้น นิยมห่อผ้าเอาไว้ดมกลิ่นหอม ก็คือ จำปาและซ่อนกลิ่น

ซึ่งปัจจุบันความนิยมของดอกไม้ทั้ง ๒ ชนิดนี้ ในหมู่คนไทยลดน้อยลงมาก สำหรับซ่อนกลิ่นนั้น คนไทยปัจจุบันแทบจะไม่ปลูกเอาไว้ในบริเวณบ้านหรือนำมาดมกลิ่นหอมเลย ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นดอกไม้สำหรับงานศพ จึงไม่เป็นมงคลสำหรับชีวิตประจำวันนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยมีทัศนคติไม่ดีต่อดอกไม้ที่ดีๆ อย่างซ่อนกลิ่นที่เป็นดอกไม้ยอดนิยมในหลายๆประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ โดยนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องให้กันในงานมงคลต่างๆ อย่างแพรหลายไม่ต่างกับดอกมะลิในเมืองไทยเลย

สำหรับดอกจำปา คนไทยปัจจุบันก็ไม่ค่อยให้ความนิยมเท่าแต่ก่อน เช่น การทำพวงมาลัยก็มักใช้ดอกจำปีแทน เหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องจากชื่อที่มีคำว่า "ปา" ให้ความ หมายไปในทางทิ้งขว้าง (ปา) ฟังดูไม่เป็นมงคลนั่นเอง  คล้ายกับกรณีของลั่นทมซึ่งมีสำเนียงคล้าย "ระทม" จึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมปลูกลั่นทมกันในปัจจุบัน

จำปา : ตัวแทนอารยธรรมจากอินเดียจำปาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใหญ่ อาจสูงถึง ๑๐ เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Michelia champaca Linn. อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae เช่นเดียวกับจำปีที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ลักษณะทั่วไปของจำปาก็คล้ายกับจำปีนั่นเอง มีต่างกันไม่มากนัก เช่น ใบจำปีจะเขียวเข้มและเป็นมันกว่าใบจำปา ดอกจำปามีกลีบใหญ่และยาวแต่บางกว่ากลีบดอกจำปี สีกลีบดอกจำปามีสีเหลืองอมส้ม เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คนไทยเรียกสีดังกล่าวนี้ว่า "สีดอกจำปา" เช่นเดียวกับที่เรียก "สีดอกบวบ" (เหลือง) และ "สีดอกเซ่ง" (แดง) เป็นต้น สีดอกจำปานี้ ต่อมากร่อนลงเหลือเป็น "สีจำปา" เฉยๆ เช่น สีของยวงขนุนบางพันธุ์ มีสีเหลืองอมส้ม ก็เรียกว่า "ขนุนจำปา" เป็นต้น แสดงว่ามียวงสีจำปานั่นเอง

จำปามักติดเมล็ดมาก ต่างจากจำปีซึ่งไม่ค่อยติดเมล็ด การขยายพันธุ์จำปาจึงนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ด ซึ่งง่ายกว่าจำปีที่ต้องใช้การตอนเป็นหลัก นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำปาปลูกกันแพร่หลายกว่าจำปีในสมัยก่อน เพราะจำปีตอนยาก ราคากิ่งตอนจึงแพง เชื่อกันว่าจำปามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เพราะชื่อวิทยาศาสตร์ของจำปามีคำลงท้ายว่า champaca ซึ่งเป็นชื่อของจำปาในประเทศอินเดีย ภาษาฮินดีเรียกจำปาว่า จัมปา คนไทยคงเรียกชื่อจำปาตามคนอินเดียนี่เอง ส่วนภาษาสันสกฤตเรียก จัมปกะ แสดงว่าชื่อวิทยาศาสตร์ของจำปามาจากภาษาสันสกฤต คนอินเดียคงนำจำปามาเมืองไทยพร้อมๆ กับการติดต่อค้าขาย และเผยแพร่อารยธรรม (เช่น ภาษา ศาสนา การปกครอง ฯลฯ) มานับพันปีแล้ว ความนิยมและความเชื่อของคนอินเดียที่มีต่อจำปา ก็คงถ่ายทอดมาสู่คนไทยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วเช่นเดียวกัน

ในอินเดียถือว่าต้นจำปาเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงมักจะปลูกไว้ตามสถานที่เคารพ ไม่หักกิ่งก้าน นิยมนำดอกจำปาไปบูชาเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระสงฆ์ รวมทั้งนิยมนำมาทัดหู ห้อยผม ทำพวงมาลัย ฯลฯ (เช่นเดียวกับดอกลั่นทม) คนไทยสมัยก่อนก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวอินเดีย เช่น นำมาทัดหู แซมผม ห้อยประดับมงกุฎเมื่อเล่นโขน ละคร นอกจากนั้นยังปลูกต้นจำปาเป็นไม้เสี่ยงทายด้วย

ส.พลายน้อย กล่าวไว้ในหนังสือ "พืชพรรณไม้มงคล" ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาคนไทยยกย่องดอกจำปาเป็น "พระยาแห่งดอกไม้" ดังมีเนื้อเพลงว่า
"เจ้าเอยจำปา   เรียกว่าพระยาดอกไม้
 หอมฟุ้งจรุงใจ   พี่เก็บมาให้เจ้าเอย"
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า พันบุตรศรีเทพส่งดอกจำปาไปให้ท้าวศรีสุดาจันทร์และมีประเพณีนำดอกจำปามาให้คณะทูตเป็นการต้อนรับ ต้นจำปานั้นได้รับการยกย่องนับถือทั้งในศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และศาสนาพุทธเช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร ในหนังสือเรื่องอนาคตพระพุทธเจ้ากล่าวว่า ในอนาคตพระเทวเทโวจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้นจำปา
 
ประโยชน์ของจำปาจำปานั้นคงเข้ามาในประเทศไทยก่อนจำปีนานหลายร้อยปี เพราะจำปามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ส่วนจำปีเชื่อว่ากำเนิดในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งคงติดต่อกับไทยหลังจากชาวอินเดียหลายศตวรรษ ความก่อนหลังของการเข้ามาในประเทศไทยทำให้คนไทยรู้จักคุ้นเคยจำปามากกว่าจำปีในแง่การใช้ประโยชน์ เช่น การนำมาเป็นยารักษาโรค เป็นต้น ในหนังสือตำรายาไทยโบราณกล่าวถึง สรรพคุณทางยาจากส่วนต่างๆ ของ จำปามากมาย แต่กล่าวถึงสรรพคุณทางยาของจำปีน้อยมาก ทั้งๆ ที่จำปาและจำปีมีหลายอย่างคล้ายกันมาก อาจเป็นไปได้ว่านอกจากคนไทยเรียนรู้สรรพคุณของจำปาจากชาวอินเดียที่ใช้กันมาก่อนแล้ว ยังมีเวลาเรียนรู้ด้วยตนเองจากช่วงเวลาอันยาวนานที่จำปาเข้ามาอยู่ร่วมกับคนไทยอีกด้วย

ในตำราสรรพคุณยาโบราณของกรมหลวงวงศาธิราช กล่าวว่า ใบจำปา แก้ไข้อภิญญาณ ดอกทำให้เลือดเย็น เปลือกแก้คอแห้ง กระพี้แก้พิษสำแลง (ไข้ซ้ำ) แก่นแก้กุฏฐัง (โรคเรื้อน) ยางแก้ริดสีดวงพลวก รากขับเลือดเน่า ตำราประมวลสรรพคุณยาไทยของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ (วัดโพธิ์) กล่าวว่า ดอกใช้ปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงเลือด ดอกและลูกบำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนและไข้ ขับปัสสาวะ ใบแก้โรคเส้นประสาท แก้ป่วง รากแห้ง และเปลือกหุ้มราก ผสมกับนมสำหรับบ่มฝี เนื้อไม้บำรุงประจำเดือนสตรี น้ำมันจากดอกทาแก้ปวดศีรษะ และตาบวม เปลือกจากต้นแก้ไข้

ไม้จากต้นจำปามีสีเหลืองถึงน้ำตาลอ่อน เหนียว เป็นมัน ทนปลวก เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สร้างบ้าน ต่อเรือ ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ หีบ เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ของเล่นเด็ก ฯลฯ จะเห็นว่าจำปาเป็นไม้มีค่าในการใช้สอยเช่นเดียวกับไม้มีค่าชนิดอื่นๆ เช่น ก้านเหลือง มะม่วงป่า กะท้อน ฯลฯ เป็นต้น จำปานั้นแม้จะไม่อยู่ในรายชื่อ ไม้มงคลที่ปลูกตามทิศต่างๆ ของบ้านไทยตามตำราโบราณ แต่ก็อาจถือว่า จำปาอยู่ในประเภทไม้มงคลที่น่าจะปลูกไว้ในบริเวณบ้านอีกชนิดหนึ่ง หากถือตามคติของชาวฮินดูและชาวพุทธในอินเดียแล้วจำปาจะจัดอยู่ในระดับสูงสุด ที่เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร และลั่นทม (จำปาขอม) เลยทีเดียว แต่ต้นไม้ทั้ง ๓ ชนิด ดังกล่าว คนไทยโบราณมีข้อห้ามไม่ให้ปลูกในบ้าน แต่จำปาไม่ถูกห้ามจึงน่านำมาปลูกเอาไว้เป็นสัญญลักษณ์ของสิ่งมงคลและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของทั้ง ๒ ศาสนา

ต้นจำปานอกจากจะให้ความหมายทางวัฒนธรรม (ศาสนา) ความเชื่อที่สืบทอดมายาวนานแล้ว ยังคงมีคุณค่าที่สัมผัสได้ในปัจจุบันด้วย นั่นคือ ร่มเงา ความงดงามของทรงพุ่ม สีของดอก และกลิ่นหอม อันเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับจำปีที่คนไทยปัจจุบันนิยมปลูกกันแพร่หลายแล้ว

BJ จำปี

โนเนเอยโนนาด
   สีชมพูปูลาด       จะพาดไว้ต้นอะไรดี
   สีชมพูปูลาด       พาดไว้ที่ต้นจำปี..."


ที่ยกมาขึ้นต้นบทความตอนนี้ คือ ส่วนหนึ่งของบทกลอนกล่อม เด็กชื่อ "โนเน" คัดมาจากหนังสือบทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับสอบของหอพระสมุดวชิรญาน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๓ นับถึงขณะนี้ได้ ๘๐ ปีแล้ว บทกลอนกล่อมเด็กในหนังสือเล่มนี้ หลวงธรรมาภิมณฑ์ รวบรวมจากหนังสือเยาวพจน์ของนายโมรา ทหารมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๔๒๗ ในบทเพลงโนเนนี้ เอ่ยถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ จำปีแสดงว่าเด็กกรุงเทพฯ เมื่อ ๘๐ ปีก่อนโน้นรู้จักต้นจำปีกันเป็นอย่างดี แต่เด็กกรุงเทพฯ สมัยนี้คงรู้จักต้นจำปีกันน้อยลง แม้จะเคยเห็นดอกจำปีกันเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ผู้เขียนเลือกต้นจำปีมาเขียนเพื่อเริ่มปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๐ ด้วยเหตุผลหลายประการ  คือ เพื่อเปลี่ยนจากการแนะนำผักพื้นบ้านของไทยที่เขียนติดต่อกันมา หลายปีแล้วเป็นการแนะนำไม้ดอกบ้าง เพื่อระลึกถึงผู้ใหญ่บางท่าน  ที่ผู้เขียนเคารพรักมากอย่างน้อย ๒ ท่าน ซึ่งมีต้นจำปีเป็นต้นไม้ในดวงใจ และเพื่อฉลองการใช้ชื่อองค์กร "มูลนิธิข้าวขวัญ" แทน "ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม" ที่ใช้มาตลอดเวลาหลายปีที่เขียนคอลัมน์นี้

จำปี : ไม้ดอกหอม ขวัญใจมหาชน

จำปีเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ทรงพุ่มรูปกรวยยาวปลายแหลม สูงได้เกิน ๑๐ เมตรหากปลูกด้วยเมล็ด ใบกว้างยาว ปลายแหลม สีเขียว ผิวเรียบเป็นมัน ดอกเรียวยาว กลีบดอกแบนยาวปลายแหลม รวมกันอยู่บนก้านสั้นสีเขียว กลีบดอกสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน  ดอกออกจากมุมก้านใบ ออกดอกตลอดปี จำปีพันธุ์ดีจะมีดอก ทุกซอกใบเลยทีเดียว เมื่อดอกจำปียังเล็กอยู่นั้นกลีบดอกมีสีเขียวและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อใกล้บาน ดอกจำปีมีกลิ่นหอมเมื่อใกล้บานและ เริ่มหอมในเวลาเย็นไปจนกว่าจะโรย

จำปีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mi-chelia alba DC. อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae เช่นเดียวกับจำปา เชื่อว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของจำปีอยู่แถบร้อนของทวีปเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ บางตำรากำหนดแคบลงมาว่าอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งก็อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน จากการสังเกตของผู้เขียน พบว่า ต้นจำปีในเกาะชวาของอินโดนีเซียนั้นส่วนใหญ่ปลูกจากเมล็ด มีขนาดต้นสูงใหญ่และติดผลมาก คล้ายกับต้นจำปีในภาคใต้ของไทย ส่วนต้นจำปีตั้งแต่ภาคกลางของไทย ขึ้นไปทางเหนือและอีสานนั้น ส่วนใหญ่ไม่ติดผล จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งหรือเสียบยอด ขนาดของต้นเล็กและเตี้ยกว่าต้นจำปีเพาะเมล็ด จึงสันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดของจำปีน่าจะอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย หรืออาจจะครอบคลุมประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของไทยด้วย ส่วนจำปีที่นิยมปลูกในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยนั้น เป็นพันธุ์ที่คัดเลือกแล้ว จนไม่ติดผล ดอกดก และออกดอกตลอดปี
จำปีในสังคมไทย : อดีตถึงปัจจุบัน
คนไทยคงคุ้นเคยกับจำปีมานานแล้ว ดังปรากฏชื่อจำปีในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และเห่พระอภัยมณีของสุนทรภู่ เป็นต้น ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ กล่าว ถึงจำปีไว้ว่า "จำปี : เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่ง ไม่สู้โตนัก ดอกเหมือนดอกจำปา สีขาว กลิ่นหอมดีนัก" แสดงว่าคนไทยคุ้นเคยกับจำปีเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จำปีบ้านกับจำปีป่าเป็นพืชคนละชนิด จำปีบ้านมีปลูกเฉพาะ ตามบ้านหรือสวนเท่านั้น ไม่มีขึ้นในป่าของไทย จนถึงปัจจุบัน ยังพบว่า คนไทยนิยมปลูกต้นจำปีไว้ในบริเวณบ้านหรือสวนมากเป็นอันดับต้นๆของไม้ดอกยืนต้น แม้ว่าต้นจำปีจะมีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับไม้ดอกยืนต้นชนิดอื่นๆ แต่คนไทยก็ยังนิยมปลูกต้นจำปีกันอย่างแพร่หลายตลอดมา

ต้นพันธุ์จำปีมีราคาแพง เนื่องจากการขยายพันธุ์ใช้วิธีตอนซึ่งมีอัตราการรอดตายน้อย จึงมีปริมาณไม่พอกับความต้องการ แต่ในระยะ ๒-๓ ปีมานี้ ชาวสวนใช้วิธีขยายพันธุ์ ด้วยการเสียบยอดจำปีบนต้นตอจำปา ทำให้ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว อัตรารอดสูง ราคาพันธุ์จำปีชนิดเสียบยอดจึงถูกกว่ากิ่งตอนมาก การผลิตกิ่งพันธุ์ได้มากจนราคาถูกลงนี้ คงมีส่วนทำให้การปลูกจำปีขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ในอดีตคนไทยนิยมนำดอกจำปีติดตัวเพื่อดมกลิ่นที่หอมนุ่มนวล ทนนานแม้จะเหี่ยวเฉาแล้วก็ตาม ผู้ชายหรือคนอายุมาก (ผมสั้น) มักนิยมนำดอกจำปีเหน็บหู ส่วนผู้หญิง (สาวหรือเด็ก) ที่ผมยาว นิยมใช้เส้นผมผูกก้านดอกห้อยอยู่ข้างหู ผู้อ่านคงจำสัญลักษณ์ของบริษัทการบินไทยได้ สัญลักษณ์นี้ได้รับการตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการ แต่เรียกติดปากคนไทยมานับสิบปีแล้วว่า "เจ้าจำปี" ซึ่งผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าทำไมจึงเรียก "เจ้าจำปี" ทั้งๆ ที่รูปทรงไม่คล้ายดอกจำปีเท่าไหร่เลย เรื่องนี้คนไทยรุ่นเก่าอย่างผู้เขียนไม่สงสัยเลย เพราะคำว่า "เจ้าจำปี" เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึง อวัยวะเพศ ของเด็กชาย ดังนั้นสัญลักษณ์ของการบินไทยที่ถูกเรียกว่า "เจ้าจำปี" จึงหมายความว่าคล้ายกับอวัยวะเพศของเด็กชายนั่นเอง

ดอกจำปี (ตูม) ยังใช้เป็นเครื่องมือทดสอบความงามของสาวไทยในอดีตอีกด้วย โดยใช้ดอกจำปีเสียบร่องอกแล้วดอกจำปีไม่ร่วงหล่น สาวไทยผู้นั้นจะได้รับการยกย่องว่ามีทรวงอกงดงามตามสมัยนิยมที่สุด เพราะสมัยโน้นเห็นว่าอกที่ชิดกันนั้น เป็นอกที่งดงาม ปัจจุบันดอกจำปีที่คนไทยใช้ประโยชน์มากที่สุด คงจะเป็นการนำมาทำพวงมาลัย หากสังเกตพวงมาลัยทั่วไปที่ขายตามสี่แยก จะเห็นว่านอกจากดอกมะลิ (ตูม) แล้วยังมีดอกจำปีด้วย หรือพวงมาลัยจากดอกรักก็มีดอกจำปีด้วยเช่นเดียวกัน ภาพลักษณ์ของดอกจำปีปัจจุบันจึงเกี่ยวข้องกับความเคารพบูชาหรือความนับถือ ที่คนไทยมอบให้โดยผ่านดอกจำปีที่อยู่ในพวงมาลัย จากระยะเวลายาวนานที่จำปีอยู่กับคนไทย ทำให้คนไทยรู้จักสรรพคุณด้านสมุนไพรของจำปีว่าใช้รักษาโรคได้บางอย่าง ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยว่าด้วยพฤกษชาติ ของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) กล่าวถึง สรรพคุณของจำปีว่า

"ดอก ; มีรสขมเย็น กลิ่นหอม ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้ลม บำรุงหัวใจ"
สำหรับต้นจำปีนั้น เราจะพบขึ้นอยู่ตามบ้านของคนไทยมากมาย เพราะนอกจากให้ดอกอันเป็นที่นิยม ตลอดทั้งปีแล้ว รูปทรงต้นและใบ ก็งดงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นได้ทั้งไม้ร่มเงาและไม้ประดับไป

BJ ดอกบัว

บัวดอกไม้มงคล


บัวดอกไม้มงคล

         ดอกบัว นับเป็นดอกไม้ที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างมาก เพราะใช้ในการบูชาพระอยู่เป็นประจำ แม้แต่การแสดงความเคารพด้วยการประนมมือของเรา การที่ดอกบัวเป็น ดอกไม้ที่ใช้ในพิธีมงคล คงเป็นด้วยธรรมชาติกำเนิดของดอกบัวได้แสดงให้เห็นถึงปรัชญาการดำเนินชีวิต อย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ แม้จะเกิดในโคลนตม แต่เมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่างแล้ว กลีบดอกกลับสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดแปดเปื้อน

         เสมือนคนที่เกิดมาแล้ว หากเข้าถึงหลักธรรมก็สามารถเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ทั้งปวงได้ อย่างไรก็ดี ดอกบัว มิได้เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราเพียงแค่เป็นดอกไม้บูชาพระเท่านั้น แต่บัวยังมีบทบาทต่อวิถีชีวิตไทยในอีกหลากหลายลักษณะ ขอนำบางส่วนจากหนังสือ "ปกิณกคดีวิถีชีวิตไทยในเรื่องบัว" ของนางฤดีรัตน์ กายราศ มาเสนอเพื่อเป็นความรู้ดังต่อไปนี้

         บัวกับชื่อของคน การที่บัวได้รับความนิยมว่าเป็นไม้มงคล ทำให้ถือว่าเป็นมงคลนาม จึงมีการนำไปตั้งชื่อหญิงสาวทั้งในวรรณคดี และชีวิตประจำวันมากมาย เช่น นางปัทมาวดี ในนิทานเวตาล นางปทุมเกสร ในบทละครเรื่องพระอภัยมณี ส่วนชื่อพื้นบ้านก็ได้แก่ สายบัว บัวแก้ว บัวเผื่อน บัวผัน เป็นต้น

         นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์นามขึ้นใหม่โดยนำคำจากภาษาบาลี สันสกฤต มาสมาสและสนธิจนเกิดเป็นคำที่ออกเสียงไพเราะ เหมาะที่จะใช้เป็นชื่อบุรุษและสตรี เช่น คำว่า กมล มีความหมายว่า ใจ หรือขยายเป็น กมลา หมายถึง พระลักษมี คือ ผู้อยู่ในดอกบัว กมลวรรณ แปลว่า ผู้มีวรรณะดังดอกบัว โกมุท โกเมศ เป็นต้น

         บัวกับความเชื่อเรื่องฝัน มีความเชื่อโบราณทำนายความฝันเกี่ยวกับดอกบัวว่า ถ้าผู้ใดฝันเห็นดอกบัว จะมียศถาบรรดาศักดิ์ นำเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูล ถ้าฝันเห็นดอกบัวและได้ถือดอกบัวในมือ จะได้ลาภหรือข้าทาสบริวาร หรือได้ข่าวอันเป็นมงคลจากพี่น้อง หญิงมีครรภ์ หากฝันถึงดอกบัว จะได้บุตรเป็นชาย แต่ถ้ายังไม่แต่งงาน ฝันเห็นดอกบัว หมายถึง อาจจะได้คู่ครองในไม่ช้านี้

         บัวกับชื่อจังหวัดต่างๆ เช่น ปทุมธานี อุบลราชธานี หรือหนองบัวลำภู บัวกับชื่อวัด ในประเทศไทยมีวัดจำนวนน้อยที่มีชื่อสัมพันธ์กับบัว เช่น วัดรางบัว วัดบึงบัว วัดบัวผัน วัดฉัตรแก้วจงกลนี วัดบัวขวัญ วัดอุบลวนาราม วัดบัวทอง วัดบัวสุวรรณประดิษฐ์ เป็นต้น 

ที่กล่าวมาข้างต้น คงทำให้ได้เห็น "ดอกบัว" ในความหมายที่หลากหลายมากกว่าดอกไม้บูชาพระมากยิ่งขึ้น

คอลัมน์ ศาลาวัด

BJ ทานตะวัน

ตำนานดอกทานตะวัน

ตำนานดอกทานตะวัน





ดอกทานตะวัน ใช่ว่าจะเป็นพืชล้มลุก ธรรมดา ๆ ที่เราเห็นในปัจจุบัน ในหนังสือ นวนิยายเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อมีชื่อเรื่องว่า “ทานตะวัน” หนังสือเล่มนี้ แต่งโดย ว.วินิจฉัยกุล ท่านได้แต่งข้อความสั้น ๆ เกี่ยวกับดอกทานตะวันว่า “ทำตัวอย่างดอกทานตะวัน ดอกไม้อื่นกลัวความร้อน มันจะเหี่ยวเฉาเมื่อกระทบแดด ทานตะวันเป็นดอกไม้ชนิดเดียวที่สู้แดด ไม่เคยหนี มันจะหันตามตะวันตลอดวัน เหมือนคนที่ไม่กลัวความยากลำบาก แล้วเห็นไหมว่า ทานตะวันเป็นดอกไม้ที่สวย ใหญ่ เห็นที่ไหน สะดุดตากว่าดอกไม้อื่น” ด้วยเหตุนี้เอง ดอกทานตะวัน จึงเปรียบการใช้ชีวิตของคนเรา ทำให้เราต้องสู้ กล้าผจญภัยกับความเหนื่อยยาก เพื่อผลักดันชีวิตให้ประสบความสำเร็จ



ตำนานเกี่ยวกับดอกทานตะวันที่จะเสนอต่อไปนี้ เรื่องมันมีอยู่ว่า “ยังมีเทพธิดาองค์หนึ่ง ชื่อไคลที อาศัยอยู่ในถ้ำใต้ทะเลลึก ไม่เคยขึ้นมาบนฝั่ง (ก็ในเน็ตมันเขียนอย่างนี้นี่หน่า เทพธิดาได้อยู่อาศัยอย่างเป็นสุขสงบเรื่อยมา จนเติบโตเป็นสาวน้อย อยู่มากระทั่งวันหนึ่ง เกิดพายุพัดกระหน่ำมาอย่างรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยพัดมาถึงข้างใต้เลย พายุได้พัดพาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ขึ้นมาข้างบน ซึ่งไคลทีก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย เมื่อไคลทีถูกคลื่นทะเลซัดขึ้นมาถึงฝั่ง ก็ฟื้นคืนสติ ก็มองเห็นแสงแดด พืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ และสิ่งที่สวยที่สุด ก็คือแสงตะวันที่สาดส่อง ไคลทีเพิ่งมีโอกาสเห็นแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ก็เกิดความรักในพระอาทิตย์ขึ้นมาคือ เทพอพอลโล ทุก ๆวันไคลทีจะเฝ้ามอง ดูความงดงามของดวงอาทิตย์ วันแล้ว วันเล่า จนกระทั่งเทวดาสงสารนาง เพราะเทพอพอลโลไม่เคยเหลียวแล จึงช่วยกันบันดาลให้ ในเย็นวันหนึ่ง ขณะไคลทียืนมองตะวัน ให้เท้านั้น หยั่งลึกลงไปในดิน เครื่องแต่งกายเปลี่ยนไปเป็นสีเขียว ผมจากสีทองกลายเป็นสีเหลือง ล้อมดวงหน้าไว้ แล้วดวงตาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จึงกลายเป็นดอกทานตะวันที่สวยงามที่เฝ้ามองตามพระอาทิตย์ ขึ้นลงข้ามขอบฟ้าในทุก ๆวัน” เฮ้อ น่าสงสารเนาะ คิดแล้วเศร้า เรื่องนี้ให้ข้อคิดว่า ความรักที่มั่นคง สักวันฟ้าดินจะต้องเห็นใจ แม้จะรักข้างเดียวก็ตาม



ต่อไปนี้จะพรรณนารูปพันสัณฐานของดอกทานตะวันอย่างละเอียด “ดอกทานตะวันเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 1-2 เมตร ใบเป็นรูปไข่กว้างมีปลายแหลม มีขนสากคายมือ ขนาดของดอกใหญ่ตั้งแต่ 8-12 นิ้ว สีเหลืองสด ส่วนวิธีการปลูก นำเมล็ดไปหยอดในหลุม ใช้ดินกลบบาง ๆ ทานตะวันเป็นดอกไม้ที่ชอบที่แจ้ง แสงแดดจัด และดินร่วนปนทราย



เอาล่ะ มาถึงประโยชน์ของดอกทานตะวันกัน “ดอกทานตะวันมีประโยชน์ตั้งแต่ ดอกจนถึงราก เมล็ดดอกทานตะวันมีโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ได้ ในเมล็ดมีธาตุเหล็กสูง เปลือกของดอกนำมาทำกระดาษขาว ได้คุณภาพดี ลำต้นใช้ทำเชื้อเพลิงได้ เมื่อไถกลบจะเป็นปุ๋ย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน รากใช้ทำแป้งเค้ก สปาเกตตี้ ในรากมีวิตามิน บี 1 และธาตุอีกหลายชนิด น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดทานตะวัน เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง ประกอบด้วย ไขมันไม่อิ่มตัว และยังประกอบด้วย วิตามิน เอ ดี อี เค กากที่ได้จากการสกัดน้ำมันออกแล้ว จะทำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้ ในกากจะมีโปรตีนร้อยละ 42”









ที่มา :

http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/st2545/5-6/no17/flower_9.html


BJ กุหลาบ

เรื่องราวเกี่ยวกับดอกกุหลาบ ดอกไม้วันวาเลนไทน์


เดือนหน้าก็จะมีวันวาเลนไทน์ วันที่ของขวัญแพง
ดอกไม้แพง ดอกมะลิไหว้พระก็แพง ตามกระแส
อะไรๆก็แพง
วันที่อบอวลไปด้วยความรัก
วันที่ขยะท่วมเมือง
วันที่ผู้หญิงเสียตัว
วันที่เปลืองเงิน
เอาอะไรๆเกี่ยวกับดอกกุหลาบมาเล่าให้ฟัง
เอื้อเฟื้อข้อมูลจากหลายๆที่
เล่าให้ฟังนะ
เพื่อนๆ เคยได้ยินคำเปรียบเปรยที่ว่า ผู้หญิงสวยแต่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเปรียบเหมือน ดอกกุหลาบ ไหม แล้วเคยสงสัยมั้ยว่าทำไมต้องเปรียบเป็น ดอกกุหลาบ ผู้หญิงสวยแต่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมก็เปรียบ​ได้ดัง "ดอกกุหลาบ" เพราะดอกกุหลาบนั้นแม้จะมีรูปร่างภายนอกที่สวยงามรวมถึงกลิ่นที่หอมชวนดมแต่มันก็มีหนามแหลม หากไม่ระวังอาจโดนบาดได้ง่ายๆ

ซึ่งคำว่ากุหลาบนั้นมาจากคำว่า "คุล" ที่ในภาษาเปอร์เซียแปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" โดยในภาษาฮินดีก็มีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้" และคำว่า "คุลาพ" ก็หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ" ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า "Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก

โดยกุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกมาแต่โบราณ ว่ากันว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อ 70 ล้านปีมาแล้ว และเคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบที่ประเทศ สหรั​ฐอเมริกา โดยแต่ก่อนกุหลาบนั้นเป็นกุหลาบป่าและมีรูปร่างไม่เหมือนในทุกวันนี้ แต่เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกแล​ะผสมพันธุ์จนขยายเป็นพันธุ์ต่างๆ มากมาย ตามประวัติศาสตร์เล่าว่ากุหลาบป่าถูกนำมาปลูก​ไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิ์ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกส่งไป​ขายให้แก่ชาวโรมัน เพราะชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมาก แม้ว่าจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้วก็ตาม แต่​ก็ยังลงทุนสร้างสถานที่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกดอ​กกุหลาบอีกด้วย เพราะสำหรับชาวโรมันแล้วดอกกุหลาบนั้นมีความ สำ​คัญต่อชีวิตประจำวัน อีกทั้งชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์​ของความรัก เป็นทั้งของขวัญ และเป็นดอกไม้สำหรับทำมาลัยต้อนรับแขก รวมถึงเป็นดอกไม้สำหรับงานฉลองต่างๆ แถมยังเป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์ และยาได้อีกด้วย และเมื่อเอ่ยถึงดอกกุหลาบแล้ว

หลายๆ คนก็คงจะนึกถึงเรื่องความรัก เพราะกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความโรแมนติก โดยมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของ เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงามและความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้​สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดขอ​ง อโฟรไดท์ เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม

แม้จะไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าดอกกุหลาบ นั้​นเข้ามาเกี่ยวข้องกับบ้าเราตอนไหน แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่าเห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธ​ยา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ก็ได้มีการกล่าวถึงกุหลาบเอาไว้ และยังมีตำนานดอกกุหลาบของไทยที่เป็นบทละครพร​ะราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มาก แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาบให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา

โดยดอกกุหลาบนั้นสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่​างทีเดียว อาทิ

สีกุหลาบสื่อความหมาย

สีแดง สื่อความหมายถึง ความรักและความปราถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงหรือชายที่​ได้รับ

สีชมพู สื่อความหมายถึง ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์ สีขาว สื่อความหมายถึง ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง

สีเหลือง สื่อความหมายถึง เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอนะ

สีขาวและแดง สื่อความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สีส้มสื่อความหมายถึง ฉันรักเธอเหมือนเดิม

กุหลาบตูม สื่อความหมายถึง ความงามและความเยาว์วัย

จำนวนกุหลาบสื่อความหมาย

1 ดอก รักแรกพบ

2 ดอก แสดงความรู้สึกที่ดีให้กัน

3 ดอก ฉันรักเธอ

7 ดอกคุณทำให้ฉันหลงเสน่ห์

9 ดอก เราสองคนจะรักกันตลอดไป

10 ดอก คุณเป็นคนที่ดีเลิศ

11 ดอก คุณเป็นสมบัติชิ้นที่มีค่าชิ้นเดียวของฉัน

12 ดอกขอให้เธอเป็นคู่ของฉันเพียงคนเดียว

13 ดอก เพื่อนแท้เสมอ

15 ดอก ฉันรู้สึกเสียใจจริงๆ

20 ดอก ฉันมีความจริงใจต่อเธอ

21 ดอก ชีวิตินี้ฉันมอบเพื่อเธอ

36 ดอก ฉันยังจำความหลังอันแสนหวาน

40 ดอกความรักของฉันเป็นรักแท้

99 ดอก ฉันรักเธอจนวันตาย

100 ดอก ฉันอุทิศชีวิตนี้เพื่อเธอ

101 ดอก ฉันมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น

108 ดอกคุณจะแต่งงานกับฉันไหม

999 ดอกฉันจะรักคุณจนวินาทีสุดท้าย

ความหมายอื่น

กุหลาบแดงเข้ม (สีเหมือนไวน์แดง) "เธอช่างมีเสน่ห์งามเหลือเกิน"

กุหลาบตูมสีแดง "ฉันเริ่มรักเธอแล้วจ้ะ"

กุหลาบบานสีแดง "ฉันรักเธอเข้าแล้ว"

กุหลาบสีแดงที่โรยแล้ว "ความรักของเรานั้นจบลงแล้ว"

กุหลาบตูมสีขาว "เธอช่างไร้เดียงสาน่าทนุถนอมเหลือเกิน ฉันรักเธอ"

กุหลาบสีขาวที่โรยแล้ว "เสน่ห์ของเธอมันเริ่มลดน้อยถอยลงแล้วนะจ๊ะ"
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวที่น่าสนใจของของ​ดอกกุหลาบจ้า

BJ มะลิ

เรื่องของ "ดอกมะลิ"/ Jasmin Story 

        

    ทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับดอกไม้ไทยๆอย่างดอกมะลินะคะแต่แท้จริงแล้ว ดอกมะลิต้นกำเนิดของมันมาจากที่เมืองอินเดียโน่น มะลิมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ลำต้นมีทั้งแบบพุ่มและเป็นแบบเถาไม้เลื้อยยาวเหยียดส่วนดอกมีอยู่หลายสี สีเหลืองจะหาได้ยากที่สุดแต่ดอกมะลิสีขาวเป็นดอกที่นิยมและมีมากที่สุดค่ะและใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดเพื่อใช้ในงานพิธีทางศาสนา และพิธีต่างๆ(โดยเฉพาะที่อินเดีย)  ผสมในเครื่องดื่มเช่นชาดอกมะลิกลิ่นหอม นอกจากนั้นเชื่อว่ากลิ่นหอมของดอกมะลิจะรักษารักษาโรคประสาท ทำให้จิตใจสงบและนํ้ามันของดอกมะลิ(jasmin essential oil) สามารถรักษาพิษงูได้ ส่วนใบของดอกมะลิใช้รักษาโรคตาบางชนิดได้อีกด้วยแต่บางตำราบอกว่าดอกมะลิมีต้นกำเนิด จากทางเปอร์เชียและแคชเมียร์(จริงๆแล้วแคชเมียร์เป็นของอินเดียมาก่อน)ต่อมานำเข้าไปในยุโรบผ่านทางเสปญ(Spain)เมื่อศตวรรษที่17นี่เองค่ะ ความหมายของดอกมะลในอินเดียมักจะหมายถึงความหวังที่สูงส่งอาจเป็นเพราะว่าใช้บูชาพระ ทำพิธีกรรมทางศาสนางานแต่งงานก็เป็นได้ ส่วนในประเทศจีนหมายถึงหญิงสาวสวยรวยเสน่ห์ทางศาสนาฮินดูและศาสนามุสลิมจะหมายถึงกลิ่นหอมหวานแห่งความรักค่ะ
      ในบางแห่งจะมองว่ากลิ่นหอมของดอกมะลิมักจะก่อให้เกิดความเย้ายวนความไกล้ชิดเสน่หาความรักทางร่างกาย คงเป็นเพราะกลิ่นหอมของดอกมะลิจะช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งคลายเครียดมังคะ ถ้าจิตใจสบายเรื่องอื่นๆก็พลอยดีไปด้ว ดอกมะลิมีหลายชื่อค่ะ จัสมิน มัลลิกา มาลาตี มุลลา มาลลีและแซมปากิตา มะลิมีกลิ่นหอมหวานนุ่มนวลและเย้ายวนในทีเป็นกลิ่นที่ไม่มีพิษภัยใดๆเมื่อได้กลิ่นหอมของดอกมะลิจะรู้สึกสดชื่นมีความสุขถ้าเปรียบเทียบทางบทกวีแล้วกลิ่นดอกมะลิมักจะถูกเปรียบว่าเป็นผู้หญิงค่ะแต่เมื่อเป็นหัวนํ้าหอมหรือกลั่นเป็นหัวนํ้ามันหอมจะเรียกว่า king of essential oilsเช่นเดียวกับดอกกุหลาบจะถือว่าเป็นราชินีของหัวนํ้ามันหอมหรือqueen of essential oils เหตุที่เรียกว่าหัวนํ้ามันหอมของดอกจัสมินว่าเป็นราชาของหัวนํ้ามันหอมเพราะว่ากลิ่นดอกมะลิมักจะใช้ได้กับทั้งสองเพศคือชาย-หญิงแต่ถ้าเป็นกลิ่นหอมของดอกกุหลาบคนที่ชอบหรือใช้นํ้าหอมกลิ่นกุหลาบมักจะหมายถึงผู้หญิงมากกว่าผู้ชายค่ะ

                     


    ดอกมะลิถึงว่าจะมีมากมายหลายพันธุ์แต่ไม่ใช่ทุกพันธุ์จะนํามากลั่นเป็นหัวนํ้ามันหอมหรือ  essential oil ได้มีแค่สองชนิดเองที่นำมาใช้ใน
อุตสาหกรรมนํ้าหอมคือ Jasminum Glandiflorum กับ   Jasminum Officinaleมะลิสองชนิดนี้มีส่วนประกอบทางเคมีธรรมชาติคล้ายกันค่ะ ส่วนดอกมะลิจีนคือJasmin sambacจะนําไปใช้กับอุตสาหกรรมชา คือชากลิ่นมะลิหรือ จัสมิน ที นั่นเอง    (Jasmin Tea
)

         ในหัวนํ้าหอมกลิ่นมะลิมักจะมีส่วนประกอบทางเคมีเป็นร้อยชนิดหัวนํ้าหอมเกรดชั้นหนึ่งมักจะมาจากดอกมะลิจากอินเดีย จากอียิปต์ปัจจุบันมีความต้องการสูงไม่เพียงพอ จึงมีการผลิตที่ โมร็อคโค อัลจีเรียอิตาลีและฝรั่งเศส(ที่เมือง กราสสซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตหัวนํ้ามันหอมต่างๆมาก่อน  ดอกมะลิจำนวน7.6ล้านดอกจะผลิตหัวนํ้าหอมได้เพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้นและดอกมะลิจะต้องเก็บในเวลากลางคืนจนถึงเช้าเท่านั้นเพราะว่าตอนกลางวันแสงแดดจะทำให้กลินดอกมะลิหายไปค่ะ มะลิจึงได้ชื่อว่า ราชินี ยามราตรี หรือ queen of the night
     คุณสมบัติของดอกมะลิยังเหมาะสมในการรักษาโรคทางกายด้วยคือรักษาอาการเกร็งของท่อปัสสาละ ทำให้ฮอร์โมนสมดุลย์ รักษาโรคผิว
แห้งแตกเป็นสะเก็ด อาการแพ้ที่ผิวหนัง ถ้าเอานํ้ามันหอมของดอกมะลิ ถ้านําไปผสมกับนํ้ามันหอมของดอกกุหลาบกับนํ้ามันของดอกส้มจะเป็นนํ้ามันบำรุงผิวได้ดีมีคุณภาพ
     เนื่องจากกลิ่นหอมหวานเย็นของดอกมะลิกลิ่นมักจะเป็นส่วนผสมของนํ้าหอมหรือใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์เสมอ  จนพูดได้ว่านํ้าหอมทุกกลิ่นที่ผลิตออกมาขายจะต้องมีส่วนผสมของกลิ่นดอกมะลิเสมอ กลิ่นหอมของดอกมะลิมักจะเตือนให้นึกถึงสายลมอ่อนๆในฤดูร้อนที่โชยผ่านกลิ่นหอมของมันจะทำให้จิตใจสงบเบาสบาย ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายจึงนิยมนำไปใช้การรักษาแบบ อโรมาเธอราปีรักษาโรคเครียดทางอารมณ์ที่มีผลร้ายมาถึงทางร่างกายค่ะ
    Dogstarเชิญอ่านกลอนเกี่ยวกับความทรงจำที่แสนวิเศษเกี่ยวกับดอกมะลิซึ่งผู้ประพันธ์เป็นนักประพันธ์เอกของโลกชาวอินเดียที่พวกเรารู้จักกันแต่ขอสารภาพด็อกสตาร์ไม่ได้รู้จักงานเขียนของท่านมากนักนอกจากที่เคยถูกบังคับให้อ่านเมื่อเป็นเด็กเท่านั้นและยังบังอาจแปลงานของท่านอีกด้วยทั้งที่ความรู้ก็ไม่มี เพียงแต่อยากจะแบ่งความรู้สึกเมื่อได้อ่านกวีบทนี้แล้วมองเห็นภาพและได้บรรยากาศจนได้กลิ่นดอกมะลิและนึกถึงยาย นึกถึงดอกมะลิที่คนทางเชียงไหม่ใช้ถวายพระพุทธรูป  ใช้ในงานรดนํ้าดำหัวผู้ใหญ่และใช้คล้องคอในเทศกาลสงกรานต์กันค่ะแต่ด็อกสตาร์มีหิ้งพระเล็กๆที่ในห้องนอนด็อกสตาร์จะนำดอกมะลิวางไว้ที่พระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า  

                                                    The First Jasmines

       by Rabindranath Tagore

      

 AH, these jasmines, these white jasmines!
      เจ้าดอกมะลิสีขาวบริสุทธุ์ดอกน้อยนิด
 I seem to remember the first day when I filled my hands
      ทำให้ระลึกถึงครั้งแรกที่รู้จักถึงดอกไม้แสนหอมนี้
 with these jasmines, these white jasmines.
      ดอกไม้ดอกน้อยสีขาว ดอกมะลิที่หอมหวาน
 I have loved the sunlight, the sky and the green earth;
      ทำใหัระลึกถึงแดดสีทอง ท้องฟ้าสวยและต้นไม้เขียวชะอุ่มสดชื่น
 I have heard the liquid murmur of the river
      ฉันได้ยินเสียงสายธารไหลกระซิบผ่านโขดหินผา
 through the darkness of midnight;
      ท่ามกลางความมืดมิดยามราตรี
 Autumn sunsets have come to me at the bend of the road
       แสงอาทิตย์ในฤดูไบไม้ร่วงสาดกระทบ
 in the lonely waste, like a bride raising her veil
       เหมือนเวลาเจ้าสาวเปิดผ้าคลุมหน้า
 to accept her lover.
       เพื่อต้อนรับเจ้าบ่าวในพิธีแต่งงาน
 Yet my memory is still sweet with the first white jasmines
       ฉันยังจำได้ดีถึงดอกมะลิสีขาวดอกแรกที่แสนหอมหวาน
 that I held in my hands when I was a child.
       ที่ฉันถือไว้ในอุ้งมือเมื่อยังเป็นเด็ก
 Many a glad day has come in my life,
      วันชื่นคืนสุขได้ผ่านมาหลายครั้งและยังจำได้ดี

 and I have laughed with merrymakers on festival nights.
       ฉันเคยหัวเราะกับเหล่าพ่อสื่อแม่สื่อในงานเทศกาลจับคู่
 On grey mornings of rain
       และหัวเราะให้กับสายฝนที่กระหนํ่าในยามเช้า
 I have crooned many an idle song.
       ฉันเคยร้องเพลงรักและตกอยู่ในห้วงรัก
 I have worn round my neck the evening wreath of
       ฉันยังจำได้ถึงผ้าพันคอที่แสนอบอุ่นในยามพลบคํ่า
 BAKULAS woven by the hand of love.
       ผ้าบาคูลัสที่ถักทอด้วยความรักของคนที่รักฉัน
 Yet my heart is sweet with the memory of the first fresh jasmines
       หัวใจฉันแช่มชื่นยินดีเมื่อถึงดอกมะลิดอกแรกในความทรงจำ
 that filled my hands when I was a child.
       ที่บานสพรั่งอยู่ในอุ้งมือของฉันในวัยเยาว์

BJ กล้วยไม้



สวนพฤกษศาสตร์เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งสดและแห้ง และแสดงถิ่นที่กำเนิดของพรรณพืชเพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางพฤกษศาสตร์ ศึกษาความแตกต่างของชนิดพันธุ์ สภาพทางสรีรวิทยา การเจริญเติบโต การแพร่กระจาย การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ ฯลฯ โดยในสวนพฤกษศาสตร์จะจัดปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ โดยในสวนพฤกษศาสตร์จะจัดปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั้งของไทยและของต่างประเทศให้เป็นหมวดหมู่ตามหลักสากล และตามหลักวิชาการทางพฤกษศาสตร์ให้ดูสวยงาม และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่นกล้วยไม้ อโศก เป็นต้น
  เรามารู้จักต้นกล้วยไม้กันเถอะ ต้นกล้วยไม้ เป็นพืชดอกที่มีความหลากหลายมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยมีมากกว่า 800 สกุล และ 25,000 สปีชีส์ กล้วยไม้จัดอยู่ในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledoneae)กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์Orchidaceaeเป็นไม้ตัดดอกยอดนิยมเนื่องจากมีลักษณะดอกและสีสันลวดลายสวยงาม เป็นไม้ตัดดอกที่มีอายุการใช้งานได้นาน กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เพราะเป็นไม้ส่งออกขายต่างประเทศทำรายได้เข้า ประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท มีการปลูกเลี้ยงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผสมเกสร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงลูกกล้ายไม้ เลี้ยงต้นกล้ายไม้จน กระทั่งให้ดอก ตัดดอกบรรจุหีบห่อและส่งออกเอง แหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าที่สำคัญของโลกมี2แหล่งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ลาตินอเมริกา กับเอเชียแปซิฟิค สำหรับในลาตินอเมริกาเป็น อาณาบริเวณอเมริกากลางติดต่อกับเขตเหนือของอเมริกาใต้ ส่วนแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง จากการค้นพบประเทศไทยมีพันธุ์กล้วยไม้ป่าเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญงอกงามของ กล้วยไม้มาก และกล้วยไม้ป่าที่ในพบในภูมิภาคแถบนี้มีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างจากกล้วยไม้ในภูมิภาคลาตินอเมริกา
การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย จากการสำรวจในอดีตพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้อยู่ในป่าธรรมขาติไม่ต่ำกว่า1,000ชนิด ทั้งประเภทที่พบอยู่บนต้นไม้ บนพื้นผิวของภูเขาและบนพื้นดิน สรุปได้ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของประเทศไทยเอื้ออำนวยแก่การเจริญงอกงามของกล้วยไม้เป็นอย่าง มาก ในอดีตชาวชนบทของไทย โดยเฉพาะในแหล่งที่เคยมีกล้วยไม้ป่าอุดมสมบูรณ์ ได้นำกล้ายไม้ป่ามาปลูกเลี้ยงโดยเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำ กล้วยไม้มาปลูกไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ บ้านเรือน การเลี้ยงกล้วยไม้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกเลี้ยงอย่างจริงจังโดยชาวตะวันตกผู้หนึ่ง ที่เข้า มาทำธุรกิจในประเทศไทย เห็นว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จึงได้สร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่ายๆ และ นำเอากล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยไม้ในเอ เชียและเอเชียแปซิฟิค โดยนำมาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรกในขณะเดียวกันก็มีเจ้านายชั้นสูงและบรรดาข้าราชการที่ใกล้ชิด ให้ความสนใจเลี้ยงกล้วย ไม้เป็นงานอดิเรกเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มบุคคลสูงอายุซึ่งเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อความสุขทางใจ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ อย่างไรก็ตามการปลูก เลี้ยงกล้วยไม้ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีเงินในยุคนั้น และเป็นการปลูกเลี้ยงที่นิยมกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของประเทศไทยจะนิยมและยกย่องเฉพาะพันธุ์ที่หายากและมีราคาแพง
หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี2475สภาพการเลี้ยงก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบเช่นเดิม แต่ผลงานเกี่ยวกับการผสม พันธุ์กล้วยไม้ในต่างประเทศเริ่มมีอิทธิพลกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องกับวงการกล้วยไม้ในประเทศไทยสนใจกล้วยไม้ลูกผสมมากขึ้น มีการสั่งกล้วยไม้ ลูกผสมจากประเทศในทวีปยุโรป สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เพื่อนำเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทย การพัฒนาการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ เป็นไปอย่างจริงจัง เมื่อประมาณปี2493โดยได้มีการวิจัย นับตั้งแต่การรวบรวมปลูกในระดับพื้น ฐาน ต่อมาในปี2497ได้เริ่มเปิดการฝึกอบรมการเลี้ยงกล้วยไม้ให้แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป และมีการจัดตั้งชมรมกล้วยไม้ขึ้นในปี2498ซึ่งต่อ มาได้รับการสถาปนาเป็นสมาคมกล้วยไม้เมื่อปี2500และในปีเดียวกันนี้ ได้เริ่มมีการนำเอาความรู้ในเรื่องกล้วยไม้และแนวความคิดในการพัฒนาวง การกล้วยไม้ออกเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ และมีการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ ทำให้วงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ขยายตัวออกไป อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีการจัดตั้งสมาคมและสโมสรเกี่ยวกับกล้วยไม้ขึ้นในภาคและจังหวัดต่างๆ ในปี2501ได้มีการเปิดการสอนวิชากล้วยไม้ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก เพื่อผลิตนักวิชาการและพัฒนางานวิจัย กล้วยไม้ของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ได้จำกัดอยู่ภายในวงแคบอีกต่อไป จากการส่งเสริมดังกล่าว ทำให้มีการ นำเข้ากล้วยไม้ลูกผสมจากต่างประเทศ เช่น จากฮาวายและสิงคโปร์จำนวนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความรู้หันมารวบรวมพันธุ์ผสมและเพาะพันธุ์จาก พ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ทั้งที่เป็นพ่อแม่พันธุ์จากป่า และลูกผสมที่สั่งเข้ามาแล้วในอดีต ปี2506วงการกล้วยไม้ของไทยได้เริ่มมีแผนในการขยายข่ายงานออกไปประสานกับวงการกล้วยไม้สากล เพื่อยกระดับวงการกล้วย ไม้ในประเทศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ปี2509เริ่มการทำสวนกล้วยไม้ตัดดอกอย่างจริงจัง เมื่อไทยเริ่มส่งออกกล้วยไม้ไปสู่ตลาดต่างประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น สหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ต่อมาจึงขยายตลาดไปสู่ประเทศญี่ปุ่น แคนาดา และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา
กล้วยไม้เป็นพืชที่มีส่วนต่างๆ สมบูรณ์ คือ มีราก ต้น ใบ ดอก และผล รากของกล้วยไม้ไม่มีรากแก้ว ลำต้นไม่มีแก่นไม้ ใบจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีเส้นใบขนานกันตามความยาวของใบ ซึ่งมีรายละเอียดของส่วนต่างๆ ดังนี้
ราก กล้วยไม้มีระบบรากแบ่งเป็นหลายชนิด เช่น รากดิน รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ ระบบรากดิน จัดเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากเกิดจากหัวที่อวบน้ำอยู่ใต้ดิน ตัวรากจะมีน้ำมาก เช่นกล้วยไม้สกุลนางอั้ว กล้วยไม้ประเภทนี้พบมากบริเวณพื้นที่ที่มีสภาพอากาศในฤดูกาลที่ชัดเจน เช่น ฤดูฝนมีฝนตกชุก และมีฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนหัวจะแตกหน่อใบอ่อนจะชูพ้นขื้นมาบนผิวดิน และออกดอกในตอนปลายฤดูฝน เมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้วใบก็จะทรุดโทรมและแห้งไป คงเหลือแต่หัวที่อวบน้ำและมีอาหารสะสมฝังอยู่ใต้ดิน สามารถทนความแห้งแล้งได้
ระบบรากกึ่งดิน มีรากซึ่งมีลักษณะอวบน้ำ ใหญ่หยาบและแตกแขนงแผ่กระจายอย่างหนาแน่น สามารถเก็บสะสมน้ำได้ดีพอสมควร กล้วยไม้ประเภทนี้พบอยู่ตามอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังร่วนโปร่ง กล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งดิน ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลสเปโธกล๊อตติส สกุลเอื้องพร้าว เป็นต้น
ระบบรากอากาศ กล้วยไม้ที่มีระบบรากเป็นรากอากาศ จะมีรากขนาดใหญ่ แขนงรากหยาบ เซลล์ที่ผิวรากจะทำหน้าที่ดูดน้ำ เก็บน้ำและนำน้ำไปตามราก ได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารภทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี รากอากาศไม่ชอบอยู่ในสภาพเปียกแฉะนานเกินไป นอกจากนั้นปลายราก สดมีสีเขียวของคลอโรฟีลล์สามารถทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับใบเมื่อมี่แสงสว่าง เพราะฉะนั้นรากประเภทนี้จึงไม่หลบแสงสว่าง เหมือนรากต้นไม้ดินทั่วๆ ไป กล้ายไม้ที่มีระบบรากอากาศได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลแมลงปอ สกุลเข็มและกล้ายไม้ สกุลเรแนนเธอร่า
ลำต้น หมายถึงส่วนที่เป็นข้อ บริเวณส่วนเหนือข้อและติดอยู่กับข้อจะมีตา ตาอาจจะแตกเป็นหน่ออ่อน กิ่งอ่อนหรือช่อดอกก็ได้ ส่วนที่เป็นข้อเป็นส่วนที่มีใบ กาบใบ หรือกาบของลำต้นที่ไม่มีส่วนของใบเจริญออกมาได้ ส่วนที่อยู่ระหว่างข้อเรียกว่า ปล้อง สำหรับลำต้นของกล้วยไม้ที่โผล่พ้นจากเครื่องปลูกแบ่งได้2ประเภท คือ ลำต้นแท้ และลำต้นเทียม ลำต้นแท้ คือลำต้นที่มี ข้อ ปล้อง เหมือนกับลำต้นของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป ที่ส่วนเหนือข้อจะมีตา ซึ่งสามารถเจริญเป็นหน่อใหม่ และช่อดอกได้ ลำต้นประเภทนี้จะเจริญเติบโตออกไปทางยอด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า แมลงปอ และรองเท้านารี
ลำต้นเทียม หรือที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ทำหน้าที่สะสมอาหาร ตาที่อยู่ตามข้อบนๆ ของลำลูกกล้วยสามารถแตกเป็นหน่อหรือช่อดอกได้ แต่ลำต้นที่แท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้คือ เหง้า ซึ่งเจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก ลักษณะของเหง้ามีข้อและปล้องถี่ กล้วยไม้ที่มีลำต้นลักษณะนี้ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย แคทลียา เอพิเด็นดรั้มและสกุลออนซิเดี้ยม
ใบ กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว คือเส้นใบจะอยู่ในลักษณะขนานกันไปตามความยาวของใบ ใบของกล้วยไม้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามชนิด ของกล้วยไม้ นับตั้งแต่รูปร่าง สีสัน ขนาด และการทรงตัวตามธรรมชาติ ลักษณะใบของกล้วยไม้มีหลายชนิด เช่น ใบแบน ใบกลม และใบร่องซึ่ง เป็นลูกผสมระหว่างพวกใบกลมกับใบแบน แต่ใบกล้วยไม้ส่วนมากแล้วจะมีลักษณะแบน การเรียงตัวจะมีทั้งเรียงสลับกันและเรียงซ้อนทับกัน สีของใบส่วนมากมีสีเขียวอมเหลืองบางชนิดใบมีสีสันลวดลายสวยงาม หน้าที่ของใบ คือ สังเคราะห์แสง โดยสารสีเขียวเรียกว่าคลอโรฟีลล์ที่อยู่ ภายในใบร่วมกับแสงสว่าง ช่วยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศผ่านเข้าไปทางรูถ่ายก๊าซของใบทำปฏิกิริยากับน้ำเกิดเป็นน้ำตาล นอกจากนี้ใบ ยังทำหน้าที่คายน้ำออกจากต้น ช่วยให้รากสามารถดูดน้ำและอาหารเข้าสู่ต้น เป็นการแทนที่น้ำที่ระเหยออกจากใบ ทำให้ต้นได้อาหารหรือปุ๋ยผ่านเข้าทาง รากได้ ใบของกล้วยไม้มีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น กล้วยไม้ในสกุลสแพโตกล๊อตทิส(Spathoglottis)มีลักษณะใบเป็นจีบ กล้วยไม้พญาไร้ใบ (Chiloschista usneoides LDL)มีลักษณะใบที่เล็กมากเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ในที่ค่อนข้างร่ม มีรากหนาแน่นสีเขียว สามารถปรุงอาหารได้ ใบจึงเจริญ ออกมามีขนาดใหญ่กว่าหัวเข็มหมุดเล็กน้อย กล้วยไม้รองเท้านารี (Paphilopedilum)ลักษณะใบมีสีสรรงดงามหลายชนิดมีใบสีเขียวแก่สลับเขียว อ่อน กล้วยไม้ (Anoectochilus siamensis)ลักษณะใบมีสีน้ำตาลอมแดงและมีลายหรือกระสีขาวสวยงามมาก
ช่อดอก (Inflorescence)มีลักษณะแตกต่างกันไปอย่างกว้างขวางแล้วแต่สกุลและชนิดของกล้วยไม้ บางชนิดมีก้านช่อสั้นมาก บางชนิดมีก้านช่อยาว บางชนิดมีช่อดอกตั้งแข็ง (Erect)บางชนิดมีช่อดอกลักษณะโค้งหรือห้อยหัวลง เช่น ช่อดอกกล้วยไม้ไอยเรศ (Rhynchostylis retusa)กล้วยไม้บางชนิดมีช่อดอกยาวและมีแขนงแยกออกไปอีก เช่น ช่อดอกกล้วยไม้ในสกุลเรแนนเธอร่า (Renanthera)ก้านซึ่งเป็นแกนกลางของ ช่อดอกจะประกอบด้วยข้อและปล้อง ช่อดอกของกล้วยไม้บางชนิดมีตาซึ่งอยู่ตามข้อของก้านที่เป็นแกนช่อสามารถแตกและเจริญออกมาเป็นต้น กล้วยไม้เล็กๆ ได้ เช่น ก้านช่อของกล้วยไม้สกุลฟาแลนด์น๊อฟซิส เป็นต้น

ดอก ดอกกล้วยไม้เป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกันมีหน้าที่ในการสืบพันธุ์ ดอกมีลักษณะ คือ กลีบรองดอก คือกลีบชั้นนอก เป็นส่วนที่ห่อหุ้มป้องกันส่วนต่างๆ ในขณะที่มีสภาพเป็นตาดอกอยู่ มักมีลักษณะและสีสันคล้ายใบ กลีบดอก กล้วยไม้กลีบดอก6กลีบ แบ่งออกเป็น2ชั้น ชั้นนอก3กลีบ และชั้นใน3กลีบ กลีบชั้นนอกอยู่ข้างบนหนึ่งกลีบ ข้างๆ หรือข้างล่าง2กลีบ กลีบคู่ล่างนี้จะมี ขนาดรูปร่างและสีสันเหมือนกัน แต่กลีบบนอาจแตกต่างออกไป สำหรับกลีบชั้นใน3กลีบ กลีบหนึ่งอยู่ข้างล่าง อีก2กลีบอยู่ข้างบน กลีบคู่นี้ จะมีขนาด รูปทรง สีสัน เหมือนกัน ส่วนกลีบล่างจะเปลี่ยนไปโดยมีขนาดเล็กลงหรือโตขึ้น และมีสีสันผิดไปจากกลีบคู่บน กลีบคู่ล่างมีชื่อเรียก เฉพาะว่า ปาก หรือ กระเป๋า
เกสร คืออวัยวะที่แท้จริงของพืชมีดอก หรือเป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยให้การผสมพันธุ์กล้วยไม้เป็นพืชที่มีดอกสมบูรณ์เพศ คือ มีเกสรตัวผู้ และเกสร ตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เกสรกล้วยไม้มีลักษณะเฉพาะ คือ ส่วนของก้านชูยอดเกสรเมียกับก้านชูอับเรณูของเกสรผู้ รวมเป็นอวัยวะอันเดียวกัน และยอดเกสรเมียกับเรณูติดอยู่ส่วนนี้ รวมเรียกส่วนนี้ทั้งหมดว่า "เส้าเกสร" ซึ่งจะยื่นออกมาจากจุดเดียวกันกับที่โคนกลีบดอก ติดอยู่ที่ปลายสุด ของเส้าเกสรเป็นที่อยู่ของเรณู ซึ่งเป็นเชื้อเพศผู้ เรณูนี้เป็นเม็ดขนาดเล็กมากมีฝาครอบปิดอยู่มิดชิด เรณูของกล้วยไม้มักเกาะกันเป็นก้อนเหนียวๆ เรียกว่า ก้อนเรณู ถัดจากปลายสุดลงมา เป็นแอ่งกลมเล็กมีน้ำเหนียวอยู่เต็มแอ่ง ส่วนนี้คือ แอ่งยอดเกสรตัวเมีย การผสมพันธุ์กล้วยไม้เริ่มแรก ก้อนเรณูจะต้องเข้าไปในแอ่งน้ำเหนียว จะทำหน้าที่กระตุ้นให้เม็ดเรณูงอกเข้าไปผสมพันธุ์กับไข่ ในรังไข่ต่อไป บริเวณก้านดอกส่วนที่อยู่ชิดกับโคน กลีบดอก ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าก้านดอกที่ต่ำลงไป ก้านดอกส่วนนี้เป็นที่อยู่ของอวัยวะเพศเมียอีกส่วนหนึ่ง คือ รังไข่ ภายในรังไข่จะมีไข่อ่อนเป็น เม็ดเล็กๆ เกาะติดอยู่มากมาย ไข่อ่อนเหล่านี้เมื่อได้รับการผสมเชื้อเพศผู้จากเรณู ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตกลายเป็นเมล็ด ใช้สำหรับ สืบพันธุ์ต่อไป ผลหรือฝัก ฝักกล้วยไม้มีอายุตั้งแต่ผสมเกสรไปจนถึงฝักแก่จะแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วยไม้ร่วมกับสภาพแวดล้อมและความสมบูรณ์ขององค์ประกอบ ในการเจริญงอกงาม กล้วยไม้บางชนิดฝักอาจจะแก่ได้ในระยะเวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้น บางชนิดฝักจะอยู่กับต้นถึงปีครึ่งถึงจะแก่ ฝักกล้วยไม้ ประเภทไม่แตกกอมักจะห้อยปลายลงเป็นส่วนมาก เช่น ฝักของกล้วยไม้สกุลหวาย เป็นต้น แต่ละฝักมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเรียวยาว หรือป่องกลางคล้ายลูกรักบี้ เมล็ดมีขนาดเล็กมาก มีแต่คัพภะ แต่ไม่มีอาหารสะสม มีเปลือกบางๆ หุ้มเมล็ดอยู่ มีสีแตกต่างกันไป เช่น น้ำตาล เทา เหลือง หรือขาว และด้วยเหตุที่เมล็ดกล้วยไม้มีขนาดเล็กมาก จึงอาจปลิวกระจายไปตามลมได้ง่ายและเป็นระยะทางไกลได้
               ดังนั้นสรุปได้ว่ากล้วยไม้มีมากมายหลายพันธุ์ชนิดมีการเจริญเติบโตโดยการแพร่กระจาย การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของประเทศไทยเอื้ออำนวยแก่การเจริญงอกงามของกล้วยไม้เป็นอย่าง มาก ในอดีตชาวชนบทของไทย โดยเฉพาะในแหล่งที่เคยมีกล้วยไม้ป่าอุดมสมบูรณ์ ได้นำกล้ายไม้ป่ามาปลูกเลี้ยงโดยเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำ กล้วยไม้มาปลูกไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ บ้านเรือน การเลี้ยงกล้วยไม้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกเลี้ยงอย่างจริงจังโดยชาวตะวันตกผู้หนึ่ง ที่เข้า มาทำธุรกิจในประเทศไทย เห็นว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จึงได้สร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่ายๆ และ นำเอากล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยไม้ในเอ เชียและเอเชียแปซิฟิค โดยนำมาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ อย่างไรก็ตามการปลูก เลี้ยงกล้วยไม้ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีเงินในยุคนั้น และเป็นการปลูกเลี้ยงที่นิยมกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของประเทศไทยจะนิยมและยกย่องเฉพาะพันธุ์ที่หายากและมีราคาแพง ดังนั้นเราควรที่จะอนุรักษ์กล้วยไม้ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักกล้วยไม้


อ่านต่อ :http://writer.dek-d.com/poo_pluplam/story/view.php?id=455194#ixzz1KWcZN9XM